วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

เซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับสารไซยาไนด์ในเลือดภายใน 70 วินาที

เซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับสารไซยาไนด์ในเลือดภายใน 70 วินาที
โฉมหน้าเซนเซอร์
        หากใครเป็นแฟนนิยาย หรือการ์ตูนแนวสืบสวน คงคุ้นเคยกันดีกับชื่อของ “ไซยาไนด์” ที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฆาตกรรมอยู่เสมอๆ โดยผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวเข้าไปจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ตัวเอกที่เป็นนักสืบ หรือตำรวจได้แสดงบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่
       
       อย่างไรก็ดี ในยุคนี้อาจถึงคราวที่นักวิจัยจะก้าวเข้ามาเป็นตัวเอกแทนบ้างแล้ว เมื่อมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาต์ดาโกต้า ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับสารไซยาไนด์ในเลือดได้ภายใน 70 วินาที
       
       รองศาสตราจารย์ Brian Logue จากมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ ผู้พัฒนาเซ็นเซอร์ชิ้นนี้ พร้อมระบุว่า การทำงานของเซ็นเซอร์ก็ไม่ยาก เพียงหยดเลือดตัวอย่างลงในอุปกรณ์ กรดที่อยู่ในอุปกรณ์จะส่งผลให้ไซยาไนด์เปลี่ยนสถานะกลายเป็นก๊าซ และเมื่อก๊าซนี้มาเจอกับวัสดุฐานตามลำดับ ในที่สุดแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารเคมี และเรืองแสงขึ้นมา ซึ่งนักวิจัยสามารถวัดระดับความเข้มข้นของสารไซยาไนด์ที่ได้รับจากความเข้มข้นของการเรืองแสงจากการทำปฏิกิริยาเคมีนั่นเอง
       
       ในการทดลองกับกระต่าย ยังพบว่า เซ็นเซอร์สามารถตรวจสอบสารไซยาไนด์ได้อย่างแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้สารพิษที่ใช้ทดสอบกับกระต่ายนั้นจะมีความเข้มข้นต่ำกว่าระดับที่เป็นอันตรายถึง 200 เท่าก็ตาม แผนในขั้นต่อไปคือ การทดลองในสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้
       
       รองศาสตราจารย์ Logue กล่าวว่า กระบวนการในการตรวจสอบทั้งหมดนั้นกินเวลาประมาณ 1 นาที ซึ่งถือว่าเร็วมาก และขั้นต่อไปของการพัฒนาคือ การพัฒนาเซ็นเซอร์ให้สามารถตรวจสอบสารไซยาไนด์ได้จากน้ำลาย ซึ่งมักพบว่า ผู้ที่ตายเพราะสารพิษชนิดนี้มักได้รับสารเข้าทางปาก หรือจมูกเสมอๆ
       
       สำหรับการนำไปใช้งานนั้น รองศาสตราจารย์ Logue กล่าวว่า สามารถนำไปประยุกต์เพื่อนักผจญเพลิงในการเข้าดับเพลิงตามสถานที่ต่างๆ เพราะนักผจญเพลิงเป็นอีกคนทำงานกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการรับสารไซยาไนด์จนเสียชีวิต หากมีเซ็นเซอร์ดังกล่าวคอยเตือน ก็อาจช่วยให้นักผจญเพลิงหนีออกจากอาคารได้ทันนั่นเอง
       
       ใครเป็นแฟนการ์ตูนโคนัน จะหาไว้ให้นักสืบจิ๋วรายนี้พกติดตัวด้วยก็คงดีไม่น้อย 
เซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับสารไซยาไนด์ในเลือดภายใน 70 วินาที
รองศาสตราจารย์ Brian Logue และผู้ช่วย

ที่มา:- http://manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น